วิธีการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน

ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย การเปิดเผยข้อมูล และความโปร่งใส ได้กำหนดให้บริษัทมีการจัดทำนโยบายการแจ้งเบาะแส เพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้บริษัทได้รับทราบเรื่องร้องเรียนการกระทำผิดทางกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรือจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจของบริษัท อันนำมาซึ่งความเสื่อมเสียในทรัพย์สินของบริษัท ทั้งจากภายพนักงานภายใน และบุคคลภายนอก

ทั้งนี้บริษัทได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้กำหนดแนวทางการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียนจากผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มในช่องทาง ดังนี้

ขอบเขตของการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน

  1. การกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎระเบียบของรัฐ หรือจรรยาบรรณธุรกิจ และระเบียบข้อบังคับของบริษัท
  2. การกระทำที่อาจส่อถึงการทุจริต ซึ่งหมายถึง การกระทำใดๆ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง หรือผู้อื่น เช่น การยักยอกทรัพย์ การคอร์รัปชั่น การฉ้อโกง เป็นต้น

บริษัทจะไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอน และแนวปฏิบัติในการรับข้อร้องเรียนได้ในกรณีดังต่อไปนี้

  • เรื่องที่บริษัทได้ดำเนินการสอบสวน และมีมติเด็ดขาดแล้ว
  • เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล หรือที่ศาลพิจารณา หรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว
  • ข้อร้องเรียน ข้อกล่าวหาที่ไม่ระบุชื่อ ที่อยู่ หรือช่องทางการติดต่ออื่นที่แท้จริงของผู้ให้ข้อมูล หรือผู้แจ้งเบาะแส
  • ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้า และการให้บริการ สามารถติดต่อผ่านช่องทาง PT Call Center 1614

ช่องทางในการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน

เว็บไซต์บริษัท
จดหมายอิเล็กทรอนิกส์
จดหมายธรรมดา
เลขานุการคณะกรรมการบริษัท
บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน)
เลขที่ 90 อาคารซีดับเบิ้ลยู ทาวเวอร์ เอ ชั้นที่ 33 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310

ขั้นตอนและแนวปฏิบัติในการรับข้อร้องเรียน

เลขานุการคณะกรรมการบริษัท ลงทะเบียนรับข้อร้องเรียนที่ได้รับจากช่องทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือจดหมายธรรมดา และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้

  1. หากเรื่องร้องเรียนเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามนโยบาย และระเบียบวิธีปฏิบัติด้านบุคคล ให้นำส่ง ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล
  2. หากเรื่องร้องเรียนเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎระเบียบของรัฐ นโยบาย และหลักการกำกับดูแลกิจการ จรรยาบรรณธุรกิจ และระเบียบข้อบังคับของบริษัทให้นำส่ง เลขานุการคณะกรรมการบริษัท
  3. หากเรื่องร้องเรียนเป็นการกระทำที่อาจส่อถึงการทุจริต ซึ่งหมายถึง การกระทำใดๆ เพื่อแสดงหาประโยชน์ ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง หรือผู้อื่น เช่น การยักยอกทรัพย์ การคอร์รัปชั่น การฉ้อโกง เป็นต้น ให้นำส่ง ฝ่ายตรวจสอบภายใน
  4. ในกรณีที่เรื่องร้องเรียนตามข้อ 1. - 3. เป็นเรื่องที่ซับซ้อน หรือเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ให้นำส่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่

ผู้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนตามข้างต้น มีหน้าที่พิจารณาตรวจสอบ หรือติดตามการแก้ไขข้อร้องเรียน และรายงานผลการตรวจสอบให้แก่ เลขานุการคณะกรรมการบริษัท รับทราบ และเลขานุการคณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่รายงานผลการติดตาม หรือแก้ไขข้อร้องเรียนให้กับผู้ร้องเรียนรับทราบ (ในกรณีที่ผู้ร้องเรียนเปิดเผยตัวตน)

การรายงานข้อมูลที่เป็นเท็จ

ในกรณีที่การรายงานข้อมูลได้รับการพิสูจน์แล้วว่า การรายงานข้อมูลมานั้นเป็นเท็จ อันเนื่องมาจากเจตนาบิดเบือน ข้อเท็จจริง หรือเป็นการกล่าวร้ายต่อผู้อื่น ให้ถือว่าผู้ที่รายงานข้อมูลนั้นมีความผิดทางจรรยาบรรณของบริษัท ส่วนการกำหนดบทลงโทษให้ยึดตามระเบียบข้อบังคับของบริษัท และ/หรือบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

การให้ความคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน

บริษัท จะเก็บข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากผู้ให้ข้อมูล หรือผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับสูงสุด และจะใช้ความระมัดระวัง ในการแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ให้ข้อมูล หรือผู้แจ้งเบาะแส หรือหน้าที่การงานของผู้แจ้ง และพนักงานผู้แจ้งข่าวสารข้อมูล ผู้ร้องทุกข์ ผู้เปิดเผยข้อมูล และผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่ให้ข้อมูล หรือหลักฐานที่เป็นความจริง จะได้รับการปกป้องไม่ให้ได้รับผลกระทบต่อหน้าที่การงานจากผู้กระทำความผิด