ถาม - ตอบ
รูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างไร
การดำเนินธุรกิจหลักของบริษัท และบริษัทย่อย สามารถแบ่งออกได้เป็น 8 ประเภท ดังนี้
1. ธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงและธุรกิจค้าปลีก
- 1) ธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิง
บริษัทดำเนินธุรกิจค้าน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้สถานีบริการ PT ใน 2 ลักษณะ คือ สถานีบริการน้ำมันที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท (Company Owned Company Operated หรือ “สถานีบริการประเภท COCO”) โดยดำเนินการภายใต้ บริษัท ปิโตรเลียมไทยคอร์ปอเรชั่น จำกัด (“PTC”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท และสถานีบริการน้ำมันที่เป็นของผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิ์จากบริษัท (Dealer Owned Dealer Operated หรือ “สถานีบริการน้ำมันประเภท DODO”) โดยสถานีบริการน้ำมันประเภท DODO จะรับซื้อน้ำมันมาจากบริษัท และบริษัทย่อยที่เป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 10 ทั้งนี้ บริษัทจะเป็นผู้ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ แก่ตัวแทนจำหน่ายน้ำมันเหล่านี้ เช่น การออกแบบแปลนสถานี การลงทุน และการบริหารงาน โดยสัดส่วนการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลในแต่ละสถานีบริการน้ำมัน จะแตกต่างไปตามลักษณะความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานีบริการน้ำมันแต่ละแห่ง
- 2) ธุรกิจค้าปลีก
นอกจากธุรกิจจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านสถานีบริการแล้ว PTC ยังเป็นผู้ลงทุนและดำเนินการธุรกิจร้านสะดวกซื้อ PT Mart และ Max Mart ซึ่งจำหน่ายสินค้าอุปโภค และบริโภคในชีวิตประจำวันในสถานีบริการ PT ทั้งสถานีบริการแบบ COCO และ DODO
2. ธุรกิจแก๊ส LPG
บริษัทดำเนินธุรกิจจำหน่ายแก๊ส LPG ภายใต้ บริษัท แอตลาส เอ็นเนอยี จำกัด (“ATL”) และบริษัท โอลิมปัส ออยล์ จำกัด (“OLP”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท โดยดำเนินธุรกิจค้าปลีกแก๊ส LPG ภายใต้สถานีบริการ PT ซึ่งเป็นการดำเนินงานผ่านสถานีบริการที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทและบริหารงานโดยบริษัท (Company Owned Company Operated หรือ “สถานีบริการประเภท COCO”) ซึ่งดำเนินงานภายใต้การบริหารงานของ OLP โดยบริษัทมีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อให้กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ติดตั้งแก๊สได้รับผลิตภัณฑ์ และการบริการที่ได้มาตรฐาน
ทั้งนี้ ในปี 2563 บริษัทเริ่มเข้ามาขยายธุรกิจการจำหน่าย LPG สำหรับภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม ภายใต้การดำเนินงานของ ATL โดยมีเป้าหมายที่จะขยายการให้บริการแก๊ส LPG ให้ครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ บริษัทเพิ่มโรงบรรจุก๊าซ LPG และขยายร้านจำหน่ายก๊าซ LPG บรรจุถัง บริษัทวางแผนการให้บริการไปยังภูมิภาคอื่นทั่วประเทศ ทั้งนี้ PTG ยังคงไม่หยุดคัดสรรการให้บริการที่จะเชื่อมต่อการใช้ชีวิตของลูกค้าได้อย่างครบวงจรต่อไป
3. ธุรกิจพลังงานทดแทน
บริษัทได้ลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน เนื่องจากบริษัทให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของการใช้พลังงาน และเพื่อต้องการปิดความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนพลังงานจากปิโตรเลียมในอนาคต นอกจากนี้ การลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกพืชเพื่อการผลิตพลังงานทดแทน เช่น ปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสัมปะหลัง รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐอีกด้วย โดยบริษัทได้ลงทุนในพลังงานทดแทนหลากหลายรูปแบบ ซึ่งได้แก่ ธุรกิจพลังงานไบโอดีเซล และธุรกิจโรงงานไฟฟ้าจากขยะ
ปัจจุบันบริษัทได้เริ่มดำเนินการผลิตและจำหน่ายพลังงานไบโอดีเซลแล้ว โดยเป็นการร่วมลงทุนกับ บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท อาร์ดี เกษตรพัฒนา จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม โดยโครงการนี้ เป็นโครงการปาล์มน้ำมันครบวงจร (Palm Complex) ซึ่งเริ่มตั้งแต่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลผลิตปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพให้กับเกษตรกร เพื่อใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งประกอบด้วย โรงสกัด โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม โรงไบโอดีเซล โรงน้ำมันพืช โรงไฟฟ้าแบบชีวมวล และโรงงานผลิตไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ นอกจากนี้ ยังมีคลังน้ำมันที่มีความจุรวมประมาณ 120 ล้านลิตร เพื่อการบริหารสินค้าคงคลังให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันโรงงานนี้ผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเท่ากับ 0.52 ล้านลิตรต่อวัน1/ และผลิตน้ำมันพืชเพื่อการบริโภค 0.18 ล้านลิตรต่อวัน2/ โดยไบโอดีเซล B100 ที่ได้จะถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซล ตามสัดส่วนที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ ปริมาณการใช้ไบโอดีเซลที่บริษัทต้องการใช้ในปี 2563 อยู่ที่ 0.90 – 1.00 ล้านลิตร ต่อวัน โดยบริษัทมีการวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไบโอดีเซลที่เพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายน้ำมันของบริษัท
4. ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง
บริษัทและบริษัทย่อยได้จดทะเบียนเป็นผู้ขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง และลงทุนเป็นเจ้าของกองรถบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ ซึ่งทำหน้าที่จัดส่งน้ำมันให้กับสถานีบริการน้ำมันประเภท COCO และลูกค้ากลุ่มธุรกิจค้าส่งน้ำมันเชื้อเพลิงที่สั่งซื้อน้ำมันจากบริษัท รวมถึงการขนย้ายน้ำมันระหว่างคลังเพื่อการบริหารจัดการ บริษัทมีการลงทุนในรถบรรทุกน้ำมันอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการการขนส่งน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามยอดการจำหน่ายน้ำมันที่แปรผันตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและของบริษัท
5. ธุรกิจบริหารและจัดการระบบ
บริษัทดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน สถานีบริการแก๊ส LPG ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งโดยส่วนใหญ่สาขาของธุรกิจดังกล่าวตั้งอยู่ในสถานีบริการของบริษัท บริษัทจึงให้ความสำความกับระบบการทำงานที่จะสามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างครบถ้วน รวดเร็ว และตรงตามความต้องการของลูกค้า ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงร่วมทุนกับ นายวุฒิชัย ปรีพุทธรัตน์ เพื่อจัดตั้งบริษัท อินโนลิเจนท์ ออโตเมชั่น จำกัด หรือ INA เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ในการบริหารและจัดเก็บข้อมูลลูกค้าที่มาจากการให้บริการภายในสถานีบริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสถานีบริการได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาการประมวลผลข้อมูลเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
6. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
บริษัทลงทุนและดำเนินการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้ 2 แบรนด์หลัก ได้แก่
- กาแฟพันธุ์ไทย เป็นแบรนด์ที่เน้นคุณภาพของเมล็ดกาแฟอาราบิก้า 100% รสชาติที่เข้มข้น และการบริการที่ดี ทั้งนี้ กาแฟพันธุ์ไทยเปิดให้บริการภายในสถานีบริการน้ำมัน PT สำหรับนักเดินทาง และผู้ขับรถเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังเปิดให้บริการภายนอกสถานีบริการ PT เช่น ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ห้างสรรพสินค้า (Second-tier department store) และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ (Hypermarket) เป็นต้น
- คอฟฟี่ เวิลด์ เป็นแบรนด์ที่บริหารงานภายใต้ บริษัท จี เอฟ เอ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด (“GFA”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด โดยแบรนด์คอฟฟี่ เวิลด์ เน้นเรื่องคุณภาพของกาแฟที่ดี รสชาติกลมกล่อม และเป็นกาแฟที่ตอบสนองกับ lifestyle ของกลุ่มคนในเมือง โดยจะเปิดให้บริการในพื้นที่ที่มีศักยภาพภายนอกสถานีบริการ PT เช่น ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ คอมมูนิตี้มอลล์ และสนามบิน เป็นต้น โดยคอฟฟี่ เวิลด์มีสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ และนอกจากแบรนด์กาแฟคอฟฟี่ เวิลด์แล้ว ยังมีร้านไอศกรีมคุณภาพระดับพรีเมียมภายใต้แบรนด์ ครีม แอนด์ ฟัดจ์ (Cream & Fudge) ร้านแซนด์วิช นิวยอร์ก ฟิฟท์อเวนิว เดลี (New York 5th Av. Deli) ที่ให้บริการแซนด์วิชหลากหลายรูปแบบที่คัดสรรวัตถุดิบคุณภาพดี รวมถึง ร้านไทย เชฟ เอ็กเพรส ที่ให้บริการร้านอาหารไทยในรูปแบบอาหารจานเดียว ซึ่งเป็นเมนูที่รู้จักกันดีในกลุ่มลูกค้าต่างชาติ
กลุ่มธุรกิจ Auto Care Services
ด้วยเป้าหมายการเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานที่ครบวงจรของประเทศ ทำให้บริษัทให้ความสำคัญกับการให้บริการในสถานีบริการอย่างครบวงจร ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงได้ร่วมทุนกับบริษัท ออโต้แบคส์ เซเว่น จำกัด เพื่อเปิดศูนย์บริการและซ่อมบำรุงรถยนต์ที่มีคุณภาพและครบวงจรจากประเทศญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ AUTOBACS เพื่อให้บริการลูกค้ารถยนต์นั่งให้ครบถ้วนและรอบด้านมากขึ้น ปัจจุบัน AUTOBACS เปิดให้บริการทั้งใน และนอกสถานีบริการ PT
8. ธุรกิจการบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money)
สำหรับธุรกิจการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Money บริษัทได้ทำการจัดตั้ง บริษัท แมกซ์ การ์ด จำกัด และ บริษัท แมกซ์ โซลูชัน เซอร์วิส จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเสริมศักยภาพกาพของระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านแอปพลิเคชัน PT Max Rewards ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อดูแลสมาชิกลูกค้าของผู้ใช้บริการและสินค้า ภายใต้การดูแลของบริษัทผ่านบัตร PT Max Card โดยพัฒนาขึ้นบนแพลตฟอร์มสื่อดิจิทัล ซึ่งรวบรวมสิทธิประโยชน์มากมายหลายประเภท ทั้งการสะสมคะแนนผ่านทุกยอดการซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงสิทธิประโยชน์มากมายหลายประเภท ทั้งหมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดช้อปปิ้งและท่องเที่ยว ไม่เพียงเท่านั้น ยังสามารถแลกเป็นคะแนนสะสมระหว่างพาร์เทอร์กว่าอีก 100 ร้านค้าที่ร่วมรายการ
บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านบัตร PT Max Card และแอปพลิเคชัน PT Max Rewards เพื่อเป็นแพลตฟอร์มการเชื่อมต่อระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ (O2O) เข้าไว้ด้วยกัน โดยมุ่งหวังที่จะเป็นผู้นำระบบการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มบริษัทพลังงาน ตอบโจทย์การก้าวเข้าสู่สังคมยุคดิจิทัล
ลักษณะการบริหารจัดการสถานีบริการน้ำมัน PT เป็นอย่างไร
สถานีบริการน้ำมัน PT มี 2 ประเภท ได้แก่
- สถานีบริการน้ำมันที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท และบริหารงานโดยบริษัท (Company Owned Company Operated : COCO)
- สถานีบริการน้ำมันที่เป็นของผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิ์และอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า PT จากบริษัท (Dealer Owned Dealer Operated : DODO) โดยบริษัทและบริษัทย่อยจะเป็นผู้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับตัวแทนจำหน่ายน้ำมันของบริษัทที่อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบ
โดยบริษัทเน้นการขยายสาขา COCO เป็นหลัก โดยการเช่าจากเจ้าของพื้นที่ (Light Asset Strategy) โดยระยะเวลาการทำสัญญาเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 15 ปี
พีทีจี มองตัวเองในอนาคต เป็นอย่างไร
เราวางตัวเองไว้เป็นผู้นำในธุรกิจนวัตกรรมด้านการบริการ (Service Innovation) ของไทย โดยใช้กระบวนการการทำธุรกิจผสมผสานกับการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ภายใต้แนวคิดเรื่องของ Co-creation ให้สามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมกระบวนการ และนวัตกรรมการให้บริการ เพื่อให้คนไทยนึกถึง PTG ในทุกการช่วงของการใช้ชีวิต โดยไม่ได้จำกัดตัวเองเป็นเพียงผู้นำการให้บริการด้านพลังงานเท่านั้น
บริษัทวางแผนธุรกิจระยะ 3 – 5 ปี โดยมีเป้าที่จะสร้าง PTG Eco-system ผ่านบัตรสมาชิก PT Max Card โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่
- การขยายการให้บริการทั้งธุรกิจน้ำมัน บริษัทตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีสถานีบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยบริษัทมุ่งหวังที่จะเป็นสถานีบริการที่เป็นที่หนึ่งในใจของลูกค้า
- การขยายธุรกิจที่ไม่ใช้น้ำมัน (Non-Oil) เพื่อเติมเต็มความต้องการลูกค้าให้ครบถ้วนและรอบด้านมากยิ่งขึ้น ซึ่งการลงทุนในธุรกิจใหม่บริษัทจะคัดเลือกธุรกิจที่สนับสนุนการเติบโตในอนาคตของบริษัท จากธุรกิจ Non-Oil
- การขยายไปยังธุรกิจพลังงานทดแทน เพื่อสร้างความยั่งยืนของธุรกิจ รวมถึงสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน และสังคม ในการสนันสนุนสินค้าทางการเกษตรซึ่งเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศตานนโยบายของรัฐบาล
จุดแข็งที่ทำให้บริษัทแตกต่างคืออะไร
- บริษัทเน้นการขยายสถานีบริการแบบ COCO (Company Owned Company Operated) เป็นหลัก โดยการเช่าจากเจ้าของพื้นที่ (Light Asset Strategy) ซึ่งทำให้บริษัทสามารถขยายสถานีบริการได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยระยะเวลาการทำสัญญาเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 15 ปี
- บริษัทมีระบบ supply chain เป็นของตัวเอง ทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนการขนส่งได้มีประสิทธิภาพมากกว่า นอกจากนี้ บริษัทยังมีคลังน้ำมันซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) ซึ่งกระจายตัวครอบคลุมทั่วประเทศมากที่สุด
- บัตรสมาชิก PT Max Card ที่เชื่อมสิทธิพิเศษจากการซื้อสินค้าและบริการของบริษัทและกลุ่มพันธมิตร ซึ่งได้แก่ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและแก๊สแอลพีจี ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ Max Mart ศูนย์ให้บริการซ่อมและบำรุงรักษารถบรรทุกและรถพ่วง Pro Truck และศูนย์บริการซ่อมและบำรุงรักษารถยนต์ Autobacs โดยลูกค้าสามารถสะสมคะแนนเพื่อแลกรับส่วนลดและของรางวัลต่างๆมากมาย
บัตร PT Max Card คืออะไร สมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง
เป็นบัตรสมาชิกเพื่อใช้สะสมคะแนนจากการใช้สินค้าและบริการของบริษัทและเครือพันธมิตร ซึ่งได้แก่ การเข้าใช้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและแก๊สแอลพีจี ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ Max Mart ศูนย์ให้บริการซ่อมและบำรุงรักษารถบรรทุกและรถพ่วง Pro Truck และศูนย์บริการซ่อมและบำรุงรักษารถยนต์ Autobacs และการซื้อสินค้าและบริการอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยลูกค้าสามารถนำคะแนนสะสมมาแลกสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น แลกส่วนลดเติมน้ำมัน และแลกของรางวัลอื่นๆ ทั้งนี้ บริษัทยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาประสิทธิภาพและสิทธิประโยชน์ให้แก่สมาชิก เพื่อให้บัตร PT Max Card สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันลูกค้าสามารถติดตาม อัพเดทคะแนนสะสม และแลกรับรางวัลได้ผ่านทาง Application Max Rewards ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งใน Smartphone และ Tablet ทั้งในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android นอกจากนี้ สามารถดูรายละเอียดของรางวัลเพิ่มเติมที่ www.ptmaxcard.com
นโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทเป็นอย่างไร
บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะบริษัทภายหลังจากหักภาษีและเงินทุนสำรองตามกฎหมายและเงินสำรองอื่น (ถ้ามี) อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน สภาพคล่อง ความจำเป็นในการใช้เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน แผนการลงทุน และการขยายธุรกิจในอนาคต สภาวะตลาด ความเหมาะสม และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานและการบริหารงานของบริษัท ในปี 2559 และ 2560 บริษัทจ่ายเงินปันผลเป็น 87% และ 41% ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะบริษัท ตามลำดับ โดยสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://investor.ptgenergy.co.th/en/shareholder-information/dividend-information
ค่าการตลาด (Marketing Margin) คืออะไร
คือส่วนต่างระหว่างราคาขายปลีกน้ำมัน ณ สถานีบริการ หลังหักภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) กับราคาน้ำมันที่บริษัทซื้อจากโรงกลั่นน้ำมันหลังหักภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีซื้อ) ความสัมพันธ์ระหว่างราคาขายปลีก ราคาน้ำมันที่บริษัทซื้อจากโรงกลั่น และค่าการตลาดที่บริษัทได้รับแสดงได้ ดังนี้
หมายเหตุ: ภาษีมูลค่าเพิ่ม (1) ที่รวมอยู่ในราคาน้ำมันที่บริษัทซื้อจากโรงกลั่นเป็นเงินภาษีที่บริษัทมีสิทธิขอคืนจากกรมสรรพากร ซึ่งภาษีส่วนนี้เรียกว่า "ภาษีซื้อ" และภาษีมูลค่าเพิ่ม (2) ที่รวมอยู่ในราคาขายปลีกน้ำมันเป็นเงินภาษีที่บริษัทมีหน้าที่นำส่งให้กับสรรพากร ซึ่งภาษีส่วนนี้เรียกว่า "ภาษีขาย" โดยสามารถทำการตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (http://www.eppo.go.th/index.php/th/petroleum/price/structure-oil-price?orders[publishUp]=publishUp&issearch=1)