กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน และการลงทุน

ธุรกิจพลังงานทดแทน

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของการใช้พลังงาน และต้องการที่จะลดความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนพลังงานจากปิโตรเลียมในอนาคต จึงได้ลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน นอกจากนี้ การลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่นและยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐอีกด้วย โดยบริษัทฯ ได้ลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน ได้แก่ ธุรกิจพลังงานไบโอดีเซลที่ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ น้ำมันไบโอดีเซล (B100) และน้ำมันปาล์มโอเลอิน (Refined Palm Olein: ROL) เป็นต้น ผ่านการลงทุนในบริษัท พีพีพี กรีนคอมเพล็กซ์ จำกัด (มหาชน) (“PPPGC”) (บริษัทร่วมค้าของบริษัทฯ) และ ธุรกิจโรงไฟฟ้าจากขยะ ธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงขยะ RDF (Refuse Derived Fuel) โดยเป็นการลงทุนและบริหารผ่านบริษัท พีทีจี กรีน เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (“PTGGE”) บริษัท พลังงานพัฒนา 5 จำกัด (“PP5”) และบริษัท ชุมชนสะอาด จำกัด (“CCC”) ซึ่งทั้งหมดเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ

ธุรกิจพลังงานไบโอดีเซล

PPPGC ได้เริ่มดำเนินการผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซลแล้ว โดยเป็นการร่วมลงทุนกับบริษัท ทีซีจี โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท อาร์ดี เกษตรพัฒนา จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม โดยโครงการนี้ เป็นโครงการปาล์มน้ำมันครบวงจร (Palm Complex) ซึ่งเริ่มตั้งแต่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลผลิตปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพให้กับเกษตรกรจนถึงกระบวนการผลิต ซึ่งประกอบด้วย โรงสกัด โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม โรงไบโอดีเซล โรงน้ำมันพืช โรงงานผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล และโรงงานผลิตพลังงานจากก๊าซชีวภาพ นอกจากนี้ ยังมีคลังน้ำมันที่มีความจุรวมประมาณ 100,000 ตัน เพื่อการบริหารสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

โดยปัจจุบัน โรงงานสามารถผลิตน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ได้ 0.52 ล้านลิตรต่อวัน1/ และผลิตน้ำมันปาล์มโอเลอิน (Refined Palm Olein: ROL) หรือน้ำมันพืชเพื่อการบริโภคได้ 0.17 ล้านลิตรต่อวัน2/ โดยไบโอดีเซล B100 ที่ได้ จะถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลตามสัดส่วนที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ PPPGC มีการวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานในส่วนต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากปาล์มที่เพิ่มมากขึ้นตามความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์สีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของตลาด ให้สอดคล้องกับกระแสเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy) และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต

หมายเหตุ :

1/ density ของน้ำมันไบโอดีเซล = 0.863 ล้านลิตร

2/ density ของน้ำมันพืชเพื่อบริโภค = 0.9 กิโลกรัมต่อลิตร

ธุรกิจโรงไฟฟ้าจากขยะ

ธุรกิจโรงไฟฟ้าจากขยะ ดำเนินธุรกิจโดยบริษัท พลังงานพัฒนา 5 จำกัด (“PP5”) (บริษัทย่อยของบริษัทฯ ) เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าโดยการเผาไหม้ขยะจากชุมชนเทศบาลเมืองบ้านพรุ จังหวัดสงขลา และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้เคียงที่เข้าร่วมโครงการเป็นเชื้อเพลิงหลักอย่างครบวงจร ซึ่งในปัจจุบันโรงไฟฟ้าดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างและพัฒนาภายใต้ PTGGE ตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา บนพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ ประกอบด้วยโรงผลิตไฟฟ้าประเภทเผาตรง โรงคัดแยกขยะ โรงบำบัดน้ำเสีย และหลุมฝังกลบขยะขนาดความจุประมาณ 600,000 ตัน ที่นำมาจากชุมชนในพื้นที่ซึ่งใช้ในการผลิตไฟฟ้าต่อไป

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (“กฟภ.”) ในเดือนเมษายน 2566 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี พ.ศ. 2568 โดยโรงไฟฟ้าจากขยะมีความสามารถในการรับขยะเผาตรงได้วันละ 600 ตัน ให้แก่ กฟภ. ตามอายุสัญญา 20 ปี และมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนคงที่ (FiT Fixed: FiTF ) และส่วนแปรผัน (FiT Variable: FiTV ) รวมจำนวน 5.08 บาทต่อหน่วย บวกกับอัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษ (FiT Premium) จำนวน 0.70 บาทต่อหน่วย (โดย FiT Premium จะสนับสนุนใน 8 ปีแรก นับจากวันที่เริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้า (COD))

ทั้งนี้ทาง PP5 มุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการพลังงานของคนในประเทศ และเพื่อให้การลงทุนธุรกิจดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคำนึงถึงสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน